รายการอย่างอื่นที่น่าสนใจ
พระนาคปรกนางตรา กรุวัดนางตรา จ.นครศรีธรรมราช พิมพ์ใหญ่ เนื้อชินเงิน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 พร้อมบัตรรับรอง ป๋อง สุพรรณ
หมายเลข : 8262
พระนาคปรกนางตรา กรุวัดนางตรา จ.นครศรีธรรมราช พิมพ์ใหญ่ เนื้อชินเงิน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 พร้อมบัตรรับรอง ป๋อง สุพรรณ
 
พระกริ่งอรหัง หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด กรุงเทพ ติดรางวัลที่ 2 โรงเรียนนายร้อยสามพราณ (28 ก.พ. 59) จัดโดยนิตยสารพระท่าพระจันทร์ (กริ่งดังกังวาล)
หมายเลข : 5315
พระกริ่งอรหัง หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด กรุงเทพ ติดรางวัลที่ 2 โรงเรียนนายร้อยสามพราณ (28 ก.พ. 59) จัดโดยนิตยสารพระท่าพระจันทร์ (กริ่งดังกังวาล)
 
รูปหล่อหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จ.นครปฐม รุ่นสร้างเขื่อน ปี2533 เนื้อนวโหะ
หมายเลข : 4669
รูปหล่อหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จ.นครปฐม รุ่นสร้างเขื่อน ปี2533 เนื้อนวโหะ
 
พระพิมพ์สมาธิเข่าบ่วง พระธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (พ่อบุญใหญ่) วัดเจดีย์คีรีวิหาร (วัดป่าแก้ว) จ.อุตรดิตถ์ เนื้อผงคลุกรัก ปี2470
หมายเลข : 6626
พระพิมพ์สมาธิเข่าบ่วง พระธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (พ่อบุญใหญ่) วัดเจดีย์คีรีวิหาร (วัดป่าแก้ว) จ.อุตรดิตถ์ เนื้อผงคลุกรัก ปี2470
 
พระสมเด็จวัดประสาทบุญญาวาส กรุงเทพ ปี2506 พิมพ์มีหน้ามีตา พิมพ์เล็ก เนื้อเทา (เห็นหน้าเห็นตา)
หมายเลข : 4479
พระสมเด็จวัดประสาทบุญญาวาส กรุงเทพ ปี2506 พิมพ์มีหน้ามีตา พิมพ์เล็ก เนื้อเทา (เห็นหน้าเห็นตา)
 
พระผงหลวงตาอุ่น วัดสระเกศ กรุงเทพ ปี2483 พิมพ์สมาธิไม่มีครอบแก้ว
หมายเลข : 7789
พระผงหลวงตาอุ่น วัดสระเกศ กรุงเทพ ปี2483 พิมพ์สมาธิไม่มีครอบแก้ว
 

eXTReMe Tracker


แหล่งข้อมูล สาระ พระเครื่อง พระบูชา วัตถุมงคล ของสะสม
 ค้นหาบทความ    

ประวัติพระเทพสิทธินายก (หลวงปู่นาค โสภณเถระ)

ย้อนหลังไปเมื่อกว่าแปดสิบปีก่อนโน้น ดินแดนแห่งที่ราบสูงนครราชสีมา หรือที่ชาวบ้านชาวเมืองเรียกติดปากมาจนบัดนี้ว่า "เมืองโคราช" เด็กชายนาคฯ ได้ถือปฏิสนธิ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2427 เวลา 19.10 น. เศษ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 9 ปีวอก จุลศักราช 1246 ท่านมาจากตระกูลและพื้นเพเดิมของผู้มีอันจะกินและมีบรรดาศักดิ์สูงของตระกูล "มะเริงสิทธิ" ปู่ทวดของท่านมียศบรรดาศักดิ์เป็นที่ "หลวงเริง" และปู่ของท่านแท้ ๆ คือ ขุนประสิทธิ์ (อยู่) นายอากรเมืองโคราชในยุคนั้น และย่าของท่านชื่อ ท่านฉิม บิดาของท่านคือ นายป้อม มะเริงสิทธิ มารดาชื่อ นางสวน บุตรพระวิเศษ (ทองศุข) และท่านอิ่ม ท่านเป็นบุตรคนที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน ชาย 2 คน หญิง 2 คน ดังนี้

พระเทพสิทธินายก (นาค โสภณเถระ)
พระภิกษุโชติ (ถึงแก่มรณภาพแล้ว)
นางทุเรียน ประภาวดี
นางอุดร จุลรัษเฐียร


ใครก็รู้ ..... เมืองโคราชสมัยกว่าแปดสิบปีนั้น ห่างไกลจากกรุงเทพพระมหานครประหนึ่งคนละฟากฟ้า เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบันนี้ การไปมายังไม่มีทางรถไฟและถนนหนทาง หลวงปู่นาคเล่าว่า เมืองโคราชสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กนั้น ห่างตัวเมืองออกไปเล็กน้อยล้วนแต่เป็นป่าเปลี่ยว มีแต่สัตว์ป่าที่ดุร้ายนานาชนิด ทางเดินที่จะผ่านเข้าสู่เมืองหลวงกรุงเทพพระมหานครเป็นป่าดงพงพีทุระกันดารอย่างแสนสาหัสจนเรียกกันว่า "ดงพญาเย็น - ดงพญาไฟ" ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยมาพบจุดจบเมื่อผ่านดงมหาภัยแห่งนี้ ปัจจุบันคนที่เกิดในยุคนี้ อาจไม่รู้จักหรือลืมชื่อเสียแล้ว

เด็กชาย นาค มะเริงสิทธิ เหมือนกับลูกชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายที่เจริญวัยขึ้นมาอยากหาความรู้ใส่ตัวเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล แต่โคราชยังไม่มีโรงเรียนเกิดขึ้น มีแต่วัดวาอารามเท่านั้น พ่อแม่จึงส่งเด็กชายนาค ฯ มาฝากไว้กับพระครูสังฆวิจารย์ (มี) ซึ่งเป็นลุงของท่านที่วัดบึงใกล้ประตูชุมพลเดี๋ยวนี้ ซึ่งท่านได้สั่งสอนวิชาให้ตามสมควร ท่านจึงได้บวชเป็นสามเณรตั้งแต่นั้นมา อาศัยที่ท่านเป็นคนฉลาดเล่าเรียนเก่ง พระอาจารย์ที่เป็นครูสั่งสอนภาษาบาลีและภาษาไทย จึงแนะแนวทางให้ท่านเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในสำนักดี ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

สามเณรนาค อายุ 13 ปี หาโอกาสเดินทางอยู่เป็นเวลาแรมเดือน จึงสบโอกาสเมื่อมีกองคาราวานวัวต่างและเกวียนราว 30 กว่าคน จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ท่านจึงขอร่วมเดินทางมากับเขา ด้วยสมความตั้งใจ ท่านเล่าว่าตอนที่เดินทางมาหลายสิบวันนั้น ใกล้จะถึงเมืองสระบุรี ท่านได้เห็นกุลี (กรรมกร) เป็นจำนวนมากกำลังทำงานกรุยทางสร้างทางรถไฟอยู่แล้ว เมื่อถึงสระบุรีแล้วท่านรู้สึกไม่ค่อยสบาย จึงขอแยกจากกองคาราวาน เข้าขอฝากตัวเป็นศิษย์กับพระภิกษุรูปหนึ่งในวัด "ทองพุ่มพวง" ทำเภอเสาไห้ ซึ่งหลวงนิเทศ นายอำเภอเสาไห้ ผู้เป็นน้าช่วยอุปการะ ท่านอาศัยอยู่ในวัดนี้หลายเดือนและศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปด้วย แต่ท่านก็มิได้ละความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาพระธรรมวินัยในกรุงเทพฯ ให้ได้ในกาลข้างหน้า

ท่านกล่าวว่า ต่อมาท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ สมความตั้งใจ มีญาติในกรุงเทพฯ แนะนำพาท่านซึ่งยังเป็นเณรไปฝากไว้กับท่านอาจารย์เลื่อม ซึ่งเป็นพระลูกวัดของวัดระฆังโฆษิตาราม มีกุฏิอยู่หน้าวัดใกล้ปากคลอง และปัจจุบันนี้ได้สร้างเป็นโรงเรียนสตรีวัดระฆัง

พระอาจารย์เลื่อมเป็นพระหลวงตาที่ชราภาพมาก และเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา มีลูกศิษย์ลูกหามาก โดยที่ท่านเป็นพระสอนทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเฝ้าสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ ให้ด้วยความรักความเอ็นดู เพราะสามเณรนาคเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายสมองปราดเปรื่อง

ตอนนั้น .... ท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม คือ พระธรรมโตรโลกาจารย์ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) สมเด็จองค์นี้เป็นศิษย์ของสมเด็จองค์เก่า คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) นั่นเอง พระธรรมไตรโลกาจารย์มองเห็นหน่วยก้านและบุคลิกลักษณะของสามเณรแล้ว พิจารณาเห็นว่าจะดีเด่นเป็นเอกในวันข้างหน้า ท่านจึงได้รับอุปการะและสั่งสอนในสำนักของท่านทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี

ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองสมัยนั้น เพิ่งจะเริ่มขึ้นชั่วคนละฟากข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา นับได้ว่าวัดระฆังฯ อยู่ใกล้กำแพงเมืองหลวงหรือเรียกกันว่าใกล้ปืนเที่ยงที่สุดวัดหนึ่ง วัดระฆังฯ มีอาณาเขตกว้างใกญ่ไพศาล รายล้อมไปด้วยสวนและนาอยู่ใกล้ ๆ เป็นดินแดนแห่งความสงบวิเวกวังเวง เหมาะสมที่จะบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ของภิกษุสงฆ์ ท่านเล่าว่า ท่านอาจารย์นวล ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลี เดิมเคยจำพรรษาอยู่สำนักวัดมหาธาตุ ได้ข้ามฟากมาสอนภาษาบาลีอยู่ในสำนักวัดระฆังฯ และเป็นอาจารย์ของท่านด้วย

เมื่อสามเณรนาคฯ มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าแปลเปรียญธรรม ประโยค 3 เป็นครั้งแรกต่อหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 5 และกรรมการสงฆ์ล้วนแต่เป็นพระเถรานุเถระผู้ใหญ่ผู้ทรงสมณศักดิ์หลายรูป ปรากฏว่าสามเณรนาคฯ แปลได้เป็นเปรียญธรรมประโยค 3 ได้รับพระราชทานเครื่องไทยทานอัฎฐบริขารจากพระหัตถ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ด้วยองค์หนึ่ง

สามเณรนาคฯ ได้เป็นมหาสามประโยคแล้วสมความตั้งใจ ท่านมิได้หยุดยั้งเพียงเท่านี้ คงพยายามศึกษาเล่าเรียนต่อไปจนเมื่ออายุครบ 21 ปี สามเณรนาคฯ เข้าแปลหน้าพระที่นั่งอีกครั้งหนึ่งและได้เปรียญธรรมประโยค 4 นับว่าสามเณรนาคฯ เป็นผู้คงแก่เรียนซึ่งหาได้ยากในยุคนั้น ซึ่งแต่ละครั้งที่เข้าสอบจะมีพระภิกษุและสามเณรสอบเปรียญได้เพียงไม่กี่รูป

ระยะนั้นท่านเจ้าอาวาส พระธรรมไตรโลกาจารย์ จึงทรงอุปการะบวชสามเณรนาค ผู้มีอายุครบบวชแล้วเป็นพระภิกษุสงฆ์ต่อไป โดยได้ทรงนิมนต์พระเถระผู้ทรงสมณศักดิ์สูงมาเป็นพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ ต่อหน้าองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม ดังต่อไปนี้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ) อธิบดีสงฆ์ วัดอรุณราชวราราม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
สมเด็จพระวันรัต (ดิษ) อธิบดีสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระธรรมโกษาจารย์ (แพ) วัดสุทัศน์เทพวราราม
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ทรงเป็นผู้บอกอนุสาสน์


พระมหานาค ป.ธ. 4 ซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกชื่อท่านสั้น ๆ ว่า "มหานาค" และรับฉายาจากองค์พระอุปัชฌาย์ว่า "โสภโณภิกขุ" ได้เข้าแปลเปรียญธรรมได้ประโยค 5 ภายหลังบวชเป็นพระแล้วใหม่ ๆ ต่อจากนั้นท่านมหานาคไม่ได้เข้าแปลเพื่อสอบเปรียญธรรมเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งในขณะนั้นมีการศึกษาเปรียญธรรมถึงประโยค 6 เนื่องด้วยท่านมีภาระยุ่งกับงานของวัดมากขึ้น โดยเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดในพระคุณเจ้าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)

- ต่อมาในปี พ.ศ.2464 ท่านโสภโณภิกขุ (มหานาค) ได้รับสัญญาบัตรพัดยศเป็นที่ พระธรรมกิติ
- พ.ศ.2467 - 2468 ภายหลังจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) มรณภาพแล้ว พระธรรมกิติได้รับหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามแทน และเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาจนมรณภาพ .. (1)
- พ.ศ.2475 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศที่ พระราชโมลี
- พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นที่ พระเทพสิทธินายก


ในสมัยที่ท่านกำลังศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมประโยค 4 - 5 ท่านได้ศึกษาทางวิปัสสนากรรมฐานกับท่านอาจารย์ที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดพลับ (เจริญภาส) เพิ่มเติมอีกโดยได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดซึ่งต้องใช้เวลาเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียนอยู่ประมาณ 10 ปี ก็สามารถใช้เป็นมูลฐานกระทำชาญวิปัสสนาส่งกระแสจิตได้ ต่อมาได้เปิดสอนทางวิปัสสนากรรมฐานขึ้นในศาลาการเปรียญของวัดระฆังโฆษิตาราม เกี่ยวกับการสอนวิปัสสนานี้ได้เคยปรากฏว่า ครั้งหนึ่งผู้เข้าศึกษานั่งสมาธิจิตทางวิปัสสนา ได้นั่งทำจิตถอดวิญญาณไปดูนรกสวรรค์ และท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 2 วัน ก็ยังไม่คืนสติ คงนั่งสมาธิอยู่เช่นนั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการฝึกสอนอยู่ ได้นั่งสมาธิส่งกระแสจิตไปติดตามวิญยาณของผู้นั่งสมาธิรายนี้ และไปพบในสุสานวัดดอน ตรอกจันทร์ ปรากกว่ากำลังเที่ยวเพลิดเพลินอยู่ ท่านจึงส่งกระแสจิตเตือนวิญญาณนั้นให้กลับคืนเข้าร่างเดิมเพราะล่วงมา 2 - 3 วันแล้ว หากล่าช้าไปจะคืนเข้าร่างเดิมไม่ได้ ร่างกายก็อาจจะเน่าเปื่อยไป วิญญาณของชายผู้นั้นจึงได้สติแล้วกลับคืนมาเข้าร่างเดิมที่นั่งสมาธิอยู่ในศาลาการเปรียญวัดระฆังโฆสิตาราม นอกจากนี้ได้เคยปรากฏว่าคุณโยมของท่านป่วยอยู่ทางจังหวัดนครราชสีมา โดยมิได้ส่งข่าวถึงท่าน แต่ท่านสามารถทราบได้และนำหยูกยาไปปฐมพยาบาลได้ถูก เพราะท่านใช้อำนาจกระแสสิตทางวิปัสสนา ดังนี้ การกำหนดจิตอันกระทำให้เกิดพลังจิตขึ้นได้จึงเป็นเหตุให้พระคุณเจ้าได้คิดสร้างพระสมเด็จขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2484 โดยอาศัยตำราของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) ซึ่งขณะนั้นเป็นระยะเวลาที่ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ทั้งนี้เพื่อจักได้แจกจ่ายให้ทหารได้ติดตัวไปในสมรภูมิ เป็นกำลังใจและบำรุงขวัญทหารอีกส่วนหนึ่งด้วย

พระเทพสิทธินายก (นาค โสภโณ) ในตอนที่ท่านมีอายุใกล้ 70 ใคร ๆ ก็เรียกท่านว่า "หลวงปู่นาค" แม้ว่าท่านจะมีร่างกายสมบูรณ์ชราภาพมากขึ้นตามวัยและสังขาร ท่านก็มิได้ละเลยทางศาสนกิจ ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของกุลบุตรทุกชั้นวรรณะมากมาย ท่านเป็นผู้สร้างกรรมดีมีเมตตาอันเป็นยอดปรารถนาต่อศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปไว้มากมาย มิได้สะสมทรัพย์สินอันใดไว้ จนถึงกาลมรณภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2514 เวลา 4.45 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี ท่านก็จากไปอย่างสงบปราศจากความกระวนกระวายด้วยโรคชรา ขอวิญญาณของท่านจงบรรลุถึงฟากฟ้าสรวงสวรรค์ คงเหลือไว้แต่คุณงามความดีอันสูงส่ง สุดที่จะนำมาเขียนไว้ในที่นี้ รวมศิริอายุของท่านได้ 87 ปี อยู่ในสมณเพศถึง 75 ปี และเป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว 47 พรรษา นับว่าท่านเป็นผู้ที่อยู่ในสมณเพศและเป็นเจ้าอาวาสที่นานที่สุดรูปหนึ่ง

คณะศิษยานุศิษย์ผู้บันทึกประวัติของท่าน "หลวงปู่นาค" ขอกราบนมัสการแทบเท้าของหลวงปู่นาค หากข้อความตอนหนึ่งตอนใดผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องโปรดเมตตาให้อภัยด้วยเถิด ...... คณะศิษยานุศิษย์


ที่มา : ประวัติพระเทพสิทธินายก วัดระฆังโฆษิตาราม และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพสิทธินายก (นาค โสภณเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี 15 มิถุนายน 2514 จำนวนพิมพ์ 2000 เล่ม

หมายเหตุ .. (1) ปี พ.ศ. น่าจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) มรณภาพในช่วงปี พ.ศ.2471


พระเครื่อง สิ่งสะสม ทุกรายการ รับประกันความแท้ และ ความพอใจ
Copyright www.collection9.net All Rights Reserved.